ริดสีดวงทวาร โดยตัวมันเองแล้วไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง มักไม่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต แต่อาจทำให้เป็นเรื้อรัง เป็นๆ หายๆ ได้ ถ้ายังไม่สามารถควบคุมสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ โดยจะมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด และแม้ว่าจะเคยผ่าตัดรักษาริดสีดวงมาแล้ว ก็อาจจะเกิดริดสีดวงหัวใหม่ ทำให้มีเลือดออกได้อีก
ริดสีดวงทวาร
ริดสีดวง (Hemorrhoids หรือ Piles) เป็นภาวะที่หลอดเลือดดำที่มีอยู่ตามธรรมชาติของคนทั่วไปในบริเวณทวารหนักเกิดการปูดพอง (ขอด) เป็นหัว หรือที่เรียกว่า “หัวริดสีดวง” แล้วมีการปริแตกของผนังหลอดเลือดในขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ จึงทำให้มีเลือดออกเป็นครั้งคราว โดยมักจะมีอาการของโรคเกิดขึ้นในเวลาท้องผูกหรือเกิดท้องเดินบ่อยครั้ง ปกติแล้วจะไม่ค่อยมีอาการรุนแรงหรืออันตราย โดยอาจจะเป็น ๆ หาย ๆ เรื้อรัง น่ารำคาญ หรือทำให้วิตกกังวลได้
สาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร
- การรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย
- ภาวะท้องผูกเรื้อรัง ทำให้ต้องเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นประจำ แรงเบ่งจะเพิ่มความดัน และ/หรือทำให้เกิดการเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด จนส่งผลให้หลอดเลือดโป่งพองหรือหลอดเลือดขอดได้ง่าย
- ท้องเดิน ท้องเสียเรื้อรัง การถ่ายอุจจาระบ่อย ๆ แรงเบ่งจะเป็นการเพิ่มความดัน และ/หรือทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดได้เช่นกัน
- อุปนิสัยในการเบ่งอุจจาระ เช่น ชอบเบ่งอุจจาระแรง ๆ หรือพยายามขับอุจจาระก้อนสุดท้ายออกไปให้ได้
- การเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน จากการเล่นโทรศัพท์มือถือหรืออ่านหนังสือในขณะขับถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงการนั่งแช่ การยืน หรือเดินเป็นเวลานาน ๆ เพราะจะทำให้เกิดการกดทับกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความดัน และ/หรือทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด
- การชอบใช้ยาสวนอุจจาระหรือยาระบายอย่างพร่ำเพรื่อ
- ภาวะตั้งครรภ์ เพราะน้ำหนักของครรภ์จะกดทับลงบนกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด ทำให้เลือดไหลกลับหัวใจได้ลดลง จึงเกิดการคั่งอยู่ในหลอดเลือดและเกิดหลอดเลือดบวมพองตามมา
- น้ำหนักตัวมาก (โรคอ้วน) มีผลให้แรงดันในช่องท้องและในอุ้งเชิงกรานเพิ่มสูงขึ้น เลือดจึงคั่งในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดได้เช่นเดียวกับสตรีตั้งครรภ์
- อายุมาก (ผู้สูงอายุ) ผู้สูงอายุมักจะมีการเสื่อมของเซลล์ต่าง ๆ รวมทั้งความเสื่อมของกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือด จึงทำให้หลอดเลือดโป่งพองได้ง่ายกว่าปกติ
- การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เพราะจะทำให้เกิดการกดเบียดทับหรือเกิดการบาดเจ็บต่อกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดส่วนนี้อย่างเรื้อรัง มีผลทำให้เลือดไปคั่งอยู่ในหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดโป่งพองได้ง่าย
- อาการไอเรื้อรัง มีผลเพิ่มแรงดันในช่องท้อง
- โรคแต่กำเนิดที่ไม่มีลิ้นปิดเปิด (Valve) ในหลอดเลือดดำในเนื้อเยื่อหลอดเลือดซึ่งช่วยในการไหลเวียนเลือด มีผลทำให้เกิดภาวะเลือดคั่งอยู่ภายในหลอดเลือด จึงเกิดหลอดเลือดโป่งพองได้ง่าย
- เกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ นอกจากสาเหตุที่กล่าวมาแล้ว ริดสีดวงทวารยังอาจพบร่วมกับโรคในช่องท้องอื่น ๆ ได้ เช่น ก้อนเนื้องอกในท้อง (เช่น เนื้องอกมดลูก เนื้องอกหรือถุงน้ำรังไข่), มะเร็งลำไส้ใหญ่ (อาจทำให้มีอาการของริดสีดวงทวารได้ ดังนั้น ถ้าพบว่ามีเลือดออกนานกว่า 1 สัปดาห์ หรือพบในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรแนะนำให้ไปตรวจที่โรงพยาบาลเพื่อความแน่ใจ), ต่อมลูกหมากโต, ตับแข็ง (เพราะทำให้มีภาวะความดันในหลอดเลือดดำตับสูง ซึ่งส่งผลกระทบมาที่หลอดเลือดดำที่ทวารหนัก) เป็นต้น
- ไม่ทราบสาเหตุหรืออาจมีสาเหตุมาจากพันธุกรรม โดยพบว่าผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นริดสีดวงทวารหนัก จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้สูงกว่าคนปกติทั่วไป
วิธีรักษาริดสีดวงทวาร
การรักษาแบบประคับประคองอาการ ได้แก่ การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเพิ่มความดันในกลุ่มเนื้อเยื่อหลอดเลือดที่เป็นสาเหตุของโรคริดสีดวงทวาร และการใช้ยาต่าง ๆ ซึ่งมักใช้ในกรณีที่เป็นริดสีดวงทวาร โดยไม่มีสาเหตุที่ร้ายแรง
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น การใส่ยาทาบริเวณหัวริดสีดวง การเหน็บยา หรือการกินยาต่าง ๆ ตามที่แพทย์สั่ง
- ระวังอย่าให้ท้องผูกหรือท้องเดินบ่อย ๆ ผู้ป่วยควรรับประทานผักผลไม้ที่มีกากใยสูง ๆ ให้มาก ๆ เช่น แอปเปิ้ล ฝรั่ง มะละกอสุก รวมถึงการกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทกากใย เพื่อป้องกันอาการท้องผูก และดื่มน้ำให้มาก ๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เพื่อช่วยให้อุจจาระอ่อนนุ่มและขับถ่ายออกได้ง่าย ถ้ายังมีอาการท้องผูกอีกให้กินยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซียม, ดีเกลือ, อีแอลพี, สารเพิ่มกากใย
- ฝึกขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา ไม่กลั้น และไม่เบ่งอุจจาระ
- หลีกเลี่ยงการนั่งเบ่งถ่ายเป็นเวลานาน ๆ รวมถึงการยืน การเดิน และการนั่งแช่เป็นเวลานาน ๆ
- พยายามฝึกไม่เบ่งอุจจาระ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด รวมถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะทำให้โรคริดสีดวงทวารเป็นมากขึ้นได้
- ในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก ควรหาวิธีลดความอ้วนอย่างเหมาะสมและหลีกเลี่ยงการยกของหนัก
- เมื่ออุจจาระหรือปัสสาวะเสร็จ ควรล้างก้นด้วยน้ำอุ่น ๆ หรือน้ำสะอาด พยายามรักษาความสะอาดอยู่เสมอ ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่ แต่ถ้าอยากใช้สบู่ ก็ควรเป็นสบู่เด็กอ่อนเพื่อลดการระคายเคืองของหัวริดสีดวงที่กำลังบวมหรือมีการอักเสบอยู่ (ไม่ควรทำความสะอาดด้วยกระดาษชำระแบบแข็ง แต่ควรใช้วิธีชุบน้ำ หรือใช้กระดาษชำระชนิดเปียกแทน)
- ถ้าหัวริดสีดวงหลุดออกมาข้างนอก ให้ใส่ถุงมือแล้วใช้ปลายนิ้วชุบสบู่ให้หล่อลื่น แล้วดันหัวกลับเข้าไปใหม่ ซึ่งจะช่วยได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ถ้าไม่ได้ผล แนะนำให้ไปพบแพทย์
- ถ้ามีอาการคันให้ยาทาลดคันร่วมด้วย
- ในกรณีที่มีอาการปวดมาก ๆ เนื่องจากเกิดการอักเสบให้กินยาแก้ปวด นั่งแช่ในน้ำอุ่นจัด ๆ ครั้งละ 15-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดบวม และใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวาร โดยเหน็บวันละ 2-3 ครั้ง เช้า ก่อนนอน และหลังจากถ่ายอุจจาระเสร็จ จนกว่าอาการจะบรรเทา ซึ่งปกติจะใช้เวลาประมาณ 10 วัน